มีคำถามมากมายของคุณแม่ในช่วงกำลังให้นมว่า อันนี้ทำได้หรือไม่ ทำแบบนี้ถูกรึเปล่า วันนี้เรามี9ข้อห้ามที่ไม่ควรทำในช่วงให้นมลูก
- อดอาหารเพื่อลดน้ำหนักหลังคลอด การอดอาหารในช่วงหลังคลอดอาจทำให้ขาดสารอาหารบางอย่างได้ การควบคุมน้ำหนักนั้นสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้แคลอรี่สูง ร่วมกับการออกกำลังกาย ซึ่งจะได้ผลดีกว่าและทำให้ร่างกายแข็งแรงกว่าการลดน้ำหนักด้วยการจำกัดอาหารเพียงอย่างเดียว
- ทานอาหารรสจัด/ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ : อาหารรสจัดเช่นเผ็ดจัดอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการปวดแน่นท้อง ท้องอืด อีกทั้งยังส่งผลให้ลูกรับรสเผ็ดจากน้ำนมแม่ และอาจทำให้ลูกปวดท้องได้เช่นกัน ส่วนคาเฟอีนและแอลกอฮอล์จะส่งผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูก จะทำให้ลูกกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย นอกจากนี้ปริมาณคาเฟอีนที่สูงเกินไปอาจไปลดธาตุเหล็กในน้ำนมแม่ได้เช่นกัน
- ซื้อยาทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์: ยาบางชนิดส่งผ่านน้ำนมไปยังลูกได้ หากจำเป็นต้องทานยาชนิดใด คุณแม่ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งว่ากำลังอยู่ในช่วงให้นมลูก ปกติยาจะมีปริมาณสูงสุดในกระแสเลือดหลังจากกินไปแล้วประมาณ 1-3 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับชนิดของยา ฉะนั้นจึงควรกินยาหลังจากให้ลูกกินนมเสร็จทันที หรือเลือกช่วงที่ลูกหลับนานที่สุด เพื่อช่วยลดโอกาสที่ยาจะผ่านน้ำนมไปสู่ลูก
- แคะแกะเกาบริเวณหัวนม: อาจทำให้เกิดแผลได้ เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหัวนมแตกและการติดเชื้อต่าง ๆ
- เช็ดทำความสะอาดหัวนมบ่อย : การเช็ดหรือล้างมาก ๆ จะทำให้ผิวยิ่งแห้ง หัวนมจะแตกง่ายขึ้น เมื่อหัวนมแตกคุณแม่จะเจ็บส่งผลกระทบกับการให้นมลูก
- ทาครีมที่ลานนมและหัวนม : ครีมหรือโลชั่นอาจทำให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำนมได้ ส่งผลให้เกิดการอักเสบและทำให้มีอาการเจ็บเต้านม กระทบกับการให้นมลูก อีกทั้งยังเสี่ยงมีสารเคมีตกค้างบริเวณหัวนมอีกด้วย
- หยุดนมแม่ก่อนลูกอายุ 6 เดือน : จริงๆแล้วในช่วงวัยแรกเกิดจนถึง6เดือน ลูกควรทานนมแม่เป็นหลักเพราะระบบการย่อยของเด็กเล็กยังพัฒนาไม่สมบูรณ์พอที่จะย่อยอาหารอย่างอื่นได้ นมแม่จะเหมาะสมกับระบบการย่อยของทารกมากที่สุด อีกทั้งนมแม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์มากมายที่จำเป็นต่อพัฒนาการและระบบภูมิคุ้มกัน
- ให้ลูกดูดนมจากเต้าสลับกับดูดจากขวด: ทำให้ลูกสับสนวิธีการดูดนม เพราะการดูดนมจากเต้ากับการดูดจากขวดจะใช้วิธีต่างกัน การดูดจากขวดจะง่ายกว่าทำให้ลูกอาจไม่อยากดูดนมจากเต้าอีก
- อุ่นนมแม่ด้วยไมโครเวฟ การอุ่นนมโดยตรงบนเตาหรือไมโครเวฟ ความร้อนจะทำลายสารอาหารที่อยู่ในนม การอุ่นนมแม่ที่ถูกต้องคือ ให้อุ่นขวดนมในหม้อหรือเครื่องอุ่นนม