การสำลักสามารถทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งพบมากในเด็กเล็กอายุ 1 ปีขึ้นไป จากบทความที่แล้ว เลือกเก้าอี้กินข้าวอย่างไรให้ปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับลูก – Bebeshop
นอกจากการเลือกเก้าอี้กินข้าวที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการสำลักได้แล้ว ในบทความนี้จะมาเล่าถึงวิธีการป้องกันการสำลัก และหากเกิดอาการสำลักต้องทำอย่างไร
ทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกสำลักอาหาร
- การจัดท่า : ท่าที่เหมาะสมในการกินอาหารคือให้เด็กนั่งตัวตรง ศีรษะอยู่แนวกึ่งกลางตั้งตรง งอข้อสะโพก 90 องศาให้แนบชิดกับมุมด้านในของเก้าอี้ งอเข่าและข้อเท้า90องศา ฝ่าเท้าวางแบนราบกับที่วางเท้า (วิธีการกินข้าวที่เหมาะสมควรให้เด็กนั่งเก้าอี้ และไม่ควรป้อนเด็กในขณะที่เด็กกำลังวิ่งเล่น)
- ระวังของเล่น : ระวังของเล่นที่มีสีหลุดลอกง่าย หรือของเล่นที่มีลักษณะกลม เช่น ลูกปัด เพราะนอกจากจะทำให้สำลักแล้ว ยังเสี่ยงหลุดติดคอได้อีกด้วยค่ะ(ไม่แนะนำให้เล่นของเล่นขณะกินข้าวค่ะ)
- อาหาร : เด็กอาจจะไม่ชอบอาหารบางชนิด ทำให้เด็กไม่กลืนและคายออกมา อาจจะทำให้สำลักได้
- ลักษณะอาหาร : ไม่ควรให้เด็กรับประทาน อาหารที่มีลักษณะเป็นเส้น มีขนาดกลม ลื่นและแข็ง เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก รวมไปถึงปลาที่มีก้าง เนื้อสัตว์ที่ติดกระดูก ผลไม้ที่มีเมล็ด ในกรณีผลไม้หากอยากให้ลูกทาน ควรเอาเมล็ดออก และหั่นเป็นชิ้นเล็กพอดีคำที่เด็กสามารถเคี้ยวได้
เมื่อลูกสำลัก ต้องทำอย่างไร
เด็กจะมีอาการไอ สำลัก เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ทางเดินหายใจ ร่วมกับมีอาการหายใจเสียงดัง หายใจลำบาก ขึ้นอยู่กับขนาดของสิ่งแปลกปลอม ลักษณะการอุดกั้นของสิ่งแปลกปลอม มีดังนี้
- การอุดกั้นทางเดินหายใจอย่างสมบูรณ์(ภาวะฉุกเฉิน เสี่ยงต่อการเสียชีวิต) : พบในการสำลักสิ่งแปลกปลอมที่มีขนาดใหญ่ เด็กจะมีอาการพูดหรือไอไม่มีเสียง ริมฝีปากเขียว
- การอุดกั้นทางเดินหายใจบางส่วน : เด็กยังสามารถพูดออกเสียงได้ ไอมีเสียง
การช่วยเหลือเมื่อเด็กสำลัก
- กรณีการอุดกั้นทางเดินหายใจอย่างสมบูรณ์ : ให้รีบเรียกรถพยาบาลและช่วยเหลือเด็กทันที
- เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี
จับเด็กนอนคว่ำบนแขน ศีรษะต่ำกว่าลำตัวเล็กน้อย ใช้มือประคองที่ศีรษะ วางท่อนแขนไว้บนต้นขาเพื่อช่วยประคอง ใช้สันมือตบบริเวณระหว่างสะบักด้านหลัง 5 ครั้ง ถ้ายังไม่หลุดให้จับเด็กกลับมานอนหงาย ประคองศีรษะต่ำเหมือนเดิม แล้วใช้นิ้วมือกดตรงกระดูกหน้าอกส่วนล่าง 5 ครั้งจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุด
- เด็กอายุมากกว่า 1 ปี
ให้เด็กยืนโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย ผู้ปกครองเข้าทางด้านหลัง สอดแขนโอบตัวเด็กไว้ มือข้างนึงทำเป็นกำปั้น อีกมือวางทับกำปั้น ออกแรงดันขึ้นเข้าใต้ลิ้นปี่ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุด (ระวังกระดูกซี่โครงหัก)
**** กรณีเด็กหมดสติ ต้องทำCPR ****
- กรณีการอุดกั้นทางเดินหายใจบางส่วน : ไม่ควรล้วงสิ่งแปลกปลอมออกเอง เพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมเคลื่อนไปอุดกั้นมากขึ้น