ทำไมลูกอ่านหนังสือได้ไม่คล่อง อ่านได้ช้ากว่าเพื่อนในชั้นเรียนเดียวกัน
ปัญหาการอ่านในเด็กมีอะไรบ้าง
- อ่านหนังสือตกหล่น
- อ่านข้ามบรรทัด
- เวลาอ่านสะกดคำไม่ถูก
- สับสนเมื่อเห็นตัวอักษรที่คล้ายกัน เช่น ด-ค
ปัญหาการรับรู้ทางสายตาอะไรบ้างที่มีผลต่อการอ่านของลูก
- ความสามารถในการแยกวัตถุออกจากพื้นหลัง (Figure ground): เช่น การแยกตัวหนังสือออกจากกระดาน การหาคำในบทความ หาวัตถุที่อยู่ปนๆกันหลายชิ้น
- ความสามารถในการรับรู้ว่าวัตถุมีความแตกต่างกัน (Form constancy): วัตถุรูปร่างรูปทรงต่างๆนั้นมีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง สี หรือขนาด หากเด็กมีความบกพร่องในด้านนี้จะพบว่า เด็กไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ข ในหนังสือกับบนกระดานคือตัวเดียวกัน
- ความสามารถในการรับรู้ตำแหน่งและทิศทาง (Position in space): เด็กทีมีความบกพร่องในด้านนี้มักจะสับสนหัวของตัวอักษร(หัวเข้า-หัวออก) ทิศทางของตัวอักษร(ซ้าย-ขวา) เช่น ภ-ถ d-b
- ความสัมพันธ์ระหว่างช่องว่าง/ระยะห่างระหว่างวัตถุ (Spatial relation): เด็กที่มีความบกพร่องในด้านนี้มักมีปัญหาการอ่านสะกดคำ
- ความสามารถในการมองเห็นภาพให้สมบูรณ์ (Visual closure): เมื่อเห็นภาพแค่เพียงเฉพาะบางส่วน สามารถบอกได้ว่าคืออะไร หากเด็กมีความบกพร่องในด้านนี้ จะไม่สามารถอ่านคำที่มีตัวอักษรไม่ครบได้ เช่น ข้_ว
กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะการรับรู้ทางสายตา
ก่อนที่จะฝึกการอ่านให้ลูก คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกลองทำกิจกรรมฝึกการรับรู้ทางสายตาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการฝึกการอ่านได้ดังนี้ค่ะ
- ความสามารถในการแยกวัตถุออกจากพื้นหลัง (Figure ground): ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะนี้ เช่น หาลูกปัดสีแดงในกล่องลูกปัดที่มีหลายสี
- ความสามารถในการรับรู้ว่าวัตถุมีความแตกต่างกัน (Form constancy): ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะนี้ เช่น ใส่บล็อกจับคู่รูปเรขาคณิต
- ความสามารถในการรับรู้ตำแหน่งและทิศทาง (Position in space): ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะนี้ เช่น เลือกภาพที่มีทิศทางเหมือนภาพที่กำหนด
- ความสัมพันธ์ระหว่างช่องว่าง/ระยะห่างระหว่างวัตถุ (Spatial relation): ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะนี้ เช่น จัดของวางบนโต๊ะตามตำแหน่งที่บอก เช่น เอาแก้ววางด้านหน้ากล่อง เอาขวดน้ำวางด้านซ้ายของตะกร้า
- ความสามารถในการมองเห็นภาพให้สมบูรณ์ (Visual closure): ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะนี้ เช่นต่อจิ๊กซอว์